ขยะมูลฝอย ที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือหากนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมถึงมีการปนเปื้อน และไม่สะอาด ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อขยะ ทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘ขยะกำพร้า’
‘ขยะกำพร้า’ ส่วนใหญ่จะมาจากบรรดาพลาสติกที่เราใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นขยะที่ไม่มีใครรับซื้อ จึงทำให้มักถูกทิ้งรวม ในถังประเภทขยะทั่วไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการนำไปทำลายแบบไม่ถูกวิธี ซึ่งมักจะเป็นการฝังกลบในบ่อขยะ และอย่างที่รู้กันว่าใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี ก็จะตกค้างและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปเรื่อย ๆ
แล้วอะไรบ้าง? ที่เรียกว่า ‘ขยะกำพร้า’
จากการบริโภค หรือเกิดจากการรับประทาน ยิ่งในปัจจุบันที่บริการเดลิเวอรี่ เป็นที่นิยมอย่างมาก เช่น ถุงแกงร้อน ห่อขนม ถุงฟอยล์ ช้อนส้อมพลาสติก กล่อง และถาดอาหาร ขวดน้ำอัดลม, กระป๋องน้ำอัดลม, ช้อนส้อมพลาสติก, กล่องพลาสติก, ซองเครื่องปรุง, แผงไข่, แคปซูลกาแฟ
จากการอุปโภค ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมากกว่าที่คิด เช่น แผงยา รูปถ่าย, ฟิล์มภาพ, ซองพัสดุ, กล่องโฟม, โฟมกันกระแทก, แปรงสีฟัน, แปรงขัดโถส้วม, ถุงมือยาง, สบู่เหลือทิ้ง, ไม้ปั่นหู, เสื้อผ้าเก่า, ยางรถยนต์เก่า, แกนทิชชู่ เป็นต้น
คำถามคือ ‘ขยะกำพร้า’ รีไซเคิลไม่ได้จริงๆ หรือเราไม่รู้วิธีกันแน่?
ปัจจุบันมีทางออกให้กับ ‘ขยะกำพร้า’ เหล่านี้ ไปสร้างมูลค่าได้หลากหลาย รวมทั้งนำไปสร้างเป็นพลังงานทดแทน หรือประโยชน์อื่น ๆ ได้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็น การส่งขยะกำพร้าไปใช้แทนถ่านหิน, ผลิตเป็นอิฐบล็อก, สิ่งก่อสร้าง, หรือแม้แต่ของตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
หัวใจสำคัญของการที่จะสามารถ นำขยะซึ่งไม่เป็นที่ต้องการกลับมาใช้ประโยชน์ได้นั่น จำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วย ‘การแยกขยะ’ ง่ายๆเพียงแค่ แกะฉลาก หรือตัดแยกกล่อง เพื่อที่จะได้ ล้างให้สะอาด จากนั้นตากให้แห้ง แล้วแยกประเภท ส่งไปตามจุดรับ "ขยะกำพร้า" ได้นำไปใช้ประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกกลบทิ้ง และไร้ค่าอีกต่อไป
สามารถส่งต่อ ขยะกำพร้า ที่สะอาดแล้วไปที่โครงการ ดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลโลกของเรา ให้น่าอยู่ต่อไป
FB : N15 Technology (ส่งต่อขยะกำพร้าไปทำพลังงานทดแทนถ่านหิน)
FB : Green Road (ส่งต่อขยะกำพร้าไปผลิตเป็นอิฐบล็อก หรือสิ่งก่อสร้าง)
FB : บางขยะ Bangkaya (แจ้งพิกัดจุดรับขยะกำพร้าสัญจร และพิกัดรับซื้อขยะ)